ฮี ในภาษาลาวและอีสาน

   บุญชู  ภูศรี [1]

 

          คำว่า “ฮี” ปรากฏเป็นชื่อหมู่บ้าน แหล่งน้ำ เกาะแก่ง ที่อยู่ในบริเวณภาคอีสานของไทยและใน สปป.ลาว ซึ่งบางครั้งไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนได้ว่ามีความหมายอย่างไร หรือความหมายใดใช้กับลักษณะใดบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาคำนี้ มีการนำเสนอในเชิงตลกทางเพศ เนื่องจากคำมีเสียงคล้ายกับคำเรียกอวัยวะเพศ โดยเฉพาะโดยเฉพาะเมื่อมีคำขยายด้านหลัง เช่น “ฮีใหญ่” และ “ฮีน้อย” รวมถึงการทำหน้าที่ขยายคำอื่น เช่น “ฮ่องฮี” นอกจากนี้ยังเป็นคำผวนที่อยู่ในสำนวนว่า “อยู่ดีมีแฮง” ผวนเป็น “อยู่แดงมีฮี” ซึ่งคำว่า “แดง” และคำว่า “ฮี” มีนัยยะของคำทางเพศอยู่นั่นเอง


เสียง ฮ และ ร
          เสียง ฮ ในภาษาลาวและภาษาอีสาน เมื่อจะปริวรรตหรือแปลเป็นภาษาไทยมาตรฐานแล้ว สามารถสามารถใช้ ร แทน ฮ ได้ ซึ่งในทางภาษาศาสตร์เรียกว่าเสียงปฏิภาค (Sound  Correspondence) แต่ก็มีบางคำที่ใช้แทนไม่ได้ เช่น 
                     ฮงฮง     - สุกใส                                         ฮอม       - จวน, ใกล้
                     ฮีน         - เครื่องสานใส่ข้าวเปลือก           ฮึน         - รสเฝื่อน
                     ฮุด         - ไถดะ                                         แฮ่         - สายรก
                     แฮ่ง       - ยิ่ง, มาก                                     แฮะ       - เฉียด, ใกล้
                     ฮวก       - ลูกกบ                                        ฮ่วงเฮ้า  - หอมตลบ, หอมอบอวล
                    ฮ่วนฮ่วน- เสียงก้องสะเทือนไกล                ฮิ่นตอง  - ไตร่ตรอง
 
         เสียง ฮ ในคำบางคำเมื่อใช้เสียง ร แทน ฮ แล้ว จะเกิดการตีความที่ผิดพลาดได้ เช่น ในวรรณกรรมลุ่มน้ำโขงเรื่องหมาหยุย ในตอนที่เสนาอำมาตย์ตามหาท้าวหมาหยุยกับน้อง แต่หาไม่เจอ จนกระทั่งเสนาอำมาตย์เกิดอาการฮุนแฮงขึ้น จึงพากันกลับเข้าเมืองกราบทูลต่อพระราชา ดังนี้
                               ฮ้อยว่า เงือกอยู่น้ำ                  กินอ่อนสองกษัตริย์            นั้นรือ
                               ก็บ่       เห็นทางใด                  คาบศรีสองเจ้า
                               ก็บ่       นำหาได้                     ฮุนแฮงเขาจ่ม              หาแล้ว
                               เขาจิ่ง   คืนคอบไท้                 คืนเจ้าว่าโดย
                                                                             (หมาหยุย, หน้าลานที่ 44 บรรทัดที่ 4)

          ซึ่ง “ฮุน” คำนี้หมายถึง อ่อนล้า ถอยแรง จึงต้องแปลว่า เสนาอำมาตย์ตามหาท้าวหมาหยุยและน้องไม่เจอ จนกระทั่งอ่อนแรงได้พากันบ่นด้วยความเหนื่อย หากจะแทน “ฮุนแฮง” ด้วยคำว่า “รุนแรง” จะสื่อความหมายที่ผิดได้ อาจจะแปลว่า  เสนาอำมาตย์ตามหาท้าวหมาหยุยและน้องไม่เจอ จึงพากันบริภาษอย่างรุนแรง ซึ่งผิดธรรมเนียมที่เสนาอำมาตย์จะบริภาษเชื้อพระกุมารได้

ฮี ในเอกสารโบราณ

          ฮี ในเอกสารลุ่มน้ำโขง อาจจะไม่ตรงกับความหมายของคำว่า “รี” ในภาษาไทยมาตรฐานนัก ซึ่งภาษาไทยหมายถึง กลมเรียว อย่างเช่นรูปไข่ ยาวเรียว อย่างเช่นเมล็ดข้าวสาร ซึ่งคำว่ารีมีนัยว่าไม่เป็นเหลี่ยมและไม่กลม แต่ฮีในลุ่มน้ำโขงนั้น ใช้ในความหมายที่กว้างกว่า เริ่มจาก การเรียนการสอนอักษรธรรมสมัยก่อน มีการท่องสูตรอักขรวิธีพิเศษตัวหนึ่ง คือ มีสูตรว่า “ฮ. หางฮีสระอี อ่านว่า อันว่า” กล่าวคือ ฮ หางยาว ประสมสระอี ให้อ่านว่า อันว่า ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

            ไม่ได้อ่านว่า “อันว่า” เสมอไป ต้องดูบริบทด้วยว่ากล่าวถึงอะไร เช่นในจารึกวัดป่าใหญ่ 2 (พ.ศ.2350) กล่าวว่า “จึงประสาทให้ดินนา คือท่งเบื้องท้ายวัดนั้นเป็นทานแก่พุทธรูปเจ้า ทางรีสุดท่ง ทางกว้างจุแดนดง” (ธวัช  ปุณโณทก. 2530 : 375) ฮี ในที่นี้แม้จะเขียนด้วยตัวอักษรธรรม แต่ด้วยบริบทไม่สามารถอ่านเป็น “อันว่า” ได้ ต้องอ่านว่า “ฮี”

          ส่วนฮีที่บันทึกด้วยอักษรไทยน้อย (สปป.ลาว เรียกว่า อักษรลาวเดิม) สามารถอ่านว่า “ฮี” ได้ทุกที่ ซึ่งส่วนใหญ่พบในการถวายคามเขตและนาจังหันให้กับวัด อย่างเช่นจารึกวัดแกวงเหนือ (พ.ศ. 2127) กล่าวว่า 

จารึก(วัด)แขวงเหนือ (หพก I / ๑๘) 
หอพระแก้ว นครหลวงเวียงจันทน์ มีพระราชโองการให้ที่ดินติดกับน้ำโขง ความว่า
“....น้องพระยาผาสาดให้ทานดินแกวงเหนือ ล่วงฮีของ 78 
วา ด้านเหนือฮ้อยปลาย 2 วา ด้านใต้ 50 วา ด้านนา 89 วา”

และจารึกวัดสุวรรณเจดีย์ (พ.ศ. 2166) กล่าวว่า 

“เขตดินทางฮีลวงน้ำงึมแต่เขตสวน...ตาลต้นส้มผ่อมาหลักก้ำใต้จุต้น...183 วาปลาย 3 ศอก...ฮีก้ำนอกมาจุหลักก้ำใต้ 183 วาปลาย 3 ศอก ทางก้ำเหนือแต่ฝั่งขึ้นมาจุหลัก 172 วาปลาย 3 ศอก ทางของก้ำใต้แต่ฝั่งขึ้นออกจุหลักนอก 172 วาปลาย 3 ศอก”

1. แผนผังนาจังหัน จารึก(วัด)แกวงเหนือ พ.ศ. 2127

2. แผนผังนาจังหันวัดสุวรรณเจดีย์ พ.ศ. 2166

3. แผนผังนาจังหันวัดวิชัยอาราม พ.ศ. 2172 ซึ่งศิลาจารึกได้ชำรุดแตกหัก ข้อความที่กล่าวถึงนาจังหันด้านแม่น้ำโขงเลือนไป สันนิษฐานว่า “ทางฮีก้ำของ” หรือ “ทางฮีก้ำใน” ซึ่งผู้เขียนได้ทำเส้นปะไว้ 

[แผนผังทั้งหมด สรุปจากศิลาจารึก โดยผู้เขียน]


          จากแผนผังนาจังหันพบว่า ฮี ในจารึกไม่ได้แปลว่าด้านยาวเสมอไป อย่างเช่นจารึกวัดแกว่งเหนือ ด้านเหนือยาวถึง 102 วา แต่จารึกไม่ได้บอกว่าเป็นด้านฮี แต่จารึกเรียกด้านฮีคือด้านที่ติดฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งยาวเพียง 78 วา แต่จากศิลาจารึกพอสรุปได้ 2 ความหมาย คือ ความหมายที่ 1 ในกรณีที่เห็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หมายถึง ด้านยาว ซึ่งถ้าจารึกใช้ลวงฮีแล้วจะไม่ปรากฏใช้คำว่าลวงยาวซ้ำกัน ความหมายที่ 2 ในกรณีที่เป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านยาว 2 ด้านที่ทำให้ด้านขนานแคบเข้า ซึ่งมีรูปเป็น     ซึ่งทั้ง 2 ด้านนี้ในศิลาจารึกเรียกด้านใดด้านหนึ่งว่า “ด้านฮี” หรืออาจจะเรียกทั้งสองด้านว่า “ด้านฮี” ก็เป็นได้ (จารึกวัดวิชัยอาราม)
          ฮีในศิลาจารึกนอกจากจะใช้กำหนดขอบเขตดินแดนแล้ว ยังปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของคำสาปแช่งในจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา 3 (พ.ศ. 2169) “ให้มันตกอบายทั้ง 4 โสดเทวทัต ชั่วอย่ารี ปีอย่างกว้าง” (ธวัช  ปุณโณทก. 2530 : 309) และปรากฏในวรรณกรรมเรื่องขุนบรม “บาปหมื่นชั้นเถิงชั่วอยฮี ปีเดือนมันอย่าให้ยืนยาวกว้าง” (ยุวรี  อภิรักษ์ภูสิทธิ์, 2527 : 200) คือ การสาปแช่งให้ตกนรก อย่าให้โทษที่ทำลงไปเบาบางเล็กลง หรืออย่าให้โทษนั้นเรียวเล็กลง
          นอกจาก ฮี จะพบในศิลาจารึกแล้ว ก็พบมีการใช้ในวรรณกรรมล้านช้าง โดยใช้ขยายลักษณะคำนาม อย่างเช่น ขยายลักษณะของงาช้าง ลักษณะของพืชผลต้นไม้ ลักษณะของสะพาน และลักษณะของพญานาค
          ฮี ในวรรณกรรมเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง อธิบายลักษณะของงาช้างชื่อสิงทอง ซึ่งเป็นช้างทรงของนางกว่า ซึ่งมีลักษณะงาฮี คือ งาเรียว ในวรรณกรรมเรื่องท้าวฮุ่ง ดังนี้
                               เถ้าจ่าช้อนเห็นง่าย                ดูดี
                               ไสพลโฉมต่อชน                    ชูเข้า
                               งาฮีผู้สิงทอง                          นางกว่า
                               ช้างเพียกฮ้องสะเทือนก้อง    ทั่วนา
                                                                             (ดวงเดือน  บุนยาวง และคณะ, 2003 : 58)
          ฮี ในขยายลักษณะของพืช อย่างเช่นลำอ้อย “อุจฉูอ้อยลำฮียาวใหญ่” (ปรีชา  พิณทอง, 2532 : 1024) และอธิบายลักษณะของไม้ผลที่เป็นเครือในโฉลกการปลูกต้นไม้   
                               วันอาทิตย์                             เป็นฮากเหง้าหัวดี
                               วันจันทร์                               เครือยาวฮีบ่มั่ว 
                                                                             (สำริด  บัวสีสะหวัด, 2001 : 415)
          ฮี ในวรรณกรรมเรื่องผาแดงนางไอ่ ใช้อธิบายลักษณะของสุทโธพญานาค ซึ่งมีขนาดใหญ่ ยาวเรียว
                               สุทโธไท้                                เปลื้องป่ายแผลงฤทธิ์
                               เป็นโตฮี                                ใหญ่ยาวตีม้าง
                                                                            (ปรีชา  พิณทอง, มปป. : 43)
          ฮี ในวรรณกรรมเรื่องก่ำกาดำ อธิบายลักษณะของสะพาน ซึ่งมีความกว้าง 7 ศอก และ “ทางยาวฮี  ก่ายโฮงพระยาเจ้า” (ปรีชา  พิณทอง, 2527 : 123) ซึ่งลักษณะของสะพานไม่เรียว แต่ฮีในที่นี้ใช้ในความหมายว่ายาวเพียงอย่างเดียว 


ฮี ในปัจจุบัน

          ปัจจุบันคำว่า “ฮี” ปรากฏในชื่อสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในสปป.ลาวและภาคอีสาน ซึ่งจะนำเสนอ 3 ชื่อ คือ หนองฮี ฮ่องฮี และดอนฮี

          หนองฮี

          ชื่อนี้ไม่ได้พบที่เดียวในภาคอีสานของไทย แต่พบตลอดภาคอีสานที่มีหนองน้ำยาว มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งแม้จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ตาม ด้านยาวของหนองน้ำนั้นก็ยังสามารถใช้คำว่า ฮี ซึ่งลักษณะการเรียกด้านยาวเป็นด้านฮีนี้ ตรงกับการเรียกในจารึกวัดสุวรรณเจดีย์ 

                     ภาพ 1 : บ้านหนองแวงฮี ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ มีหนองน้ำใกล้หมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า หนองฮี


                     ภาพ 2 : หนองฮี ระหว่างบ้านหนองฮี ป่ากุง ต.หนองฮี อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด หนองน้ำยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ประมาณ 75 ไร่


           ฮ่องฮี

          ร่องน้ำ ที่เล็กกว่าแม่น้ำ เล็กกว่าห้วย เรียกว่า ฮ่อง เช่น “ฮ่องเหมือง” คือ ร่องน้ำขนาดเล็ก ที่ตัดผ่านนาของชาวบ้านแต่ละผืนลงสู่ห้วยหรือหนอง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งเข็ดขวง อาถรรพ์ ห้ามขัดขวาง หรือกั้นขวางทางน้ำไหลเป็นอันขาด เพราะถือว่าเป็นทางผีผ่าน ผู้ละเมิดจะถูกผีลงโทษให้เจ็บป่วยและมีอันเป็นไป คำนี้เป็นชื่อหมู่บ้านฮ่องฮี ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และปรากฏเป็นชื่อโรงเรียนฮ่องฮีวิทยา

 

ฮ่องฮี ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อโรงเรียนฮ่องฮีวิทยา

          แท้จริงแล้วฮ่องฮีที่ชาวบ้านนำไปตั้งชื่อหมู่บ้านนั้น คือ ห้วยปลาหลด ซึ่งมีลักษณะเป็นลำธารยาว ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน จนกระทั่งนำไปตั้งคำขวัญของหมู่บ้าน “ฮ่องฮีเลื่องลือนาม งดงามแผนผังบ้าน ลำธารห้วยปลาหลด เลื่องลือยศแดนนักปราชญ์  โบราณศาสน์วัดสระเกดดอนหัน สรภัญญ์บ้านฮ่องฮี” ซึ่งเมื่อดูสัณฐานของฮ่องฮีแล้ว คำว่ “ฮี” ในที่นี้น่าจะหมายถึง ยาว เพราะห้วยปลาหลดไม่ได้เรียวเล็กลง

 

          ดอนฮี

         ดอน คือ เกาะกลางลำน้ำโขง ซึ่งบริเวณมหานทีสี่พันดอน จะมีดอนจำนวนมาก โดยดอนโขงเป็นดอนที่ใหญ่ที่สุด และใกล้ ๆ กับดอนโขงมีดอนชื่อว่า ດອນຮີ หรือ  ດອນຮີໃຫຍ່ หรือบางครั้งเรียกว่า ດອນຮີທາດ เนื่องจากว่ามีธาตุโบราณอยู่ใกล้ท่าน้ำ ที่เรียกว่าดอนฮีใหญ่นั้นเพราะเป็นเกาะที่มีลักษณะยาวเรียวที่มีขนาดใหญ่นั่นเอง ส่วนคำว่า “ฮี” ถูกนำมาเป็นส่วนประกอบชื่อสถานที่ต่าง ๆ บนดอนฮีใหญ่ เช่น วัดหัวฮี วัดฮีนาคอน วัดฮีธาตุ และวัดหางฮี (http://www.bailane.com) ซึ่งเมื่อดูจากสัณฐานของดอนฮีแล้ว คำว่า “ฮี” ในที่นี้จะหมายถึง ยาวเรียว 

ดอนฮีใหญ่ ใกล้กับดอนโขง เกาะบริเวณมหานทีสี่พันดอน

ภาพจาก จันทอน  ทัมมะเทโว. ที่สุด..ในประเทศลาว เล่ม 1. นครหลวงเวียงจันทน์ดาตาเปเปอร์การพิมพ์, 2551.

ดอนฮีใหญ่ ใกล้กับดอนโขง เกาะบริเวณมหานทีสี่พันดอน

สรุป
        ฮี หมายถึง ยาว ด้านยาว ในกรณีที่วัตถุหรือสถานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่ง ฮี ที่ใช้ในความหมายนี้คือ นาจังหันในจารึกวัดสุวรรณเจดีย์ ฮ่องฮี หนองฮี และสะพานยาวฮี ในเรื่องก่ำกาดำ
 

         ฮี ในกรณีที่เป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ด้าน 2 ด้านที่ทำให้ด้านขนานของสี่เหลี่ยมแคบเข้า เรียกว่า ด้านฮี ส่วนยาวฮี หรือ ฮียาว ปรากฏในเอกสารยุคหลัง เป็นการใช้คำที่มีความหมายในลักษณะเดียวกันมาซ้อนกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงยาวเพียงอย่างเดียว แต่ยาวเรียวด้วย และคำว่า ยาวฮี  และฮียาว นั้น สามารถเรียกสิ่งที่เรียวไปด้านบน อย่างเช่นต้นอ้อยได้ เรียวไปด้านข้าง อย่างเช่นพญานาคได้ และเรียวไปด้านล่าง อย่างเช่นเครือกล้วยได้ ยาวฮี จึง ไม่ใช่ยาวในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า สัณฐานของ “ยาวฮี” มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู  ซึ่งบางลักษณะด้านคางหมูจะดูเล็กมาก จนมีรูปร่างเป็น  ละหากจะสันนิษฐานต่อไปว่า สัณฐานนี้อาจจะดูเหมือนอวัยวะเพศหญิง และคำว่าฮีนี้อาจจะเป็นคำคำเดียวกับคำที่ใช้เรียกอวัยวะเพศหญิงก็เป็นไปได้ เพราะในเอกสารตัวเขียนลุ่มน้ำโขงนั้น มีการเขียนและแทนที่กันไปมาได้                                               

          

อ้างอิง

จันทอน  ทัมมะเทโว. ที่สุด..ในประเทศลาว เล่ม 1. นครหลวงเวียงจันทน์: ดาตาเปเปอร์การพิมพ์, 2551.

ดวงเดือน  บุนยาวง และคณะ. มหากาพย์ท้าวฮุ่งท้าวเจือง เล่ม 2. นครหลวงเวียงจันทน์ : ภาควิชาภาษาลาว วรรณคดี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ, 2546.

ธวัช  ปุณโณทก. ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว. กรุงเทพฯ: คุณพินอักษรกิจ, 2530.

ปรีชา  พิณทอง. ท้าวก่ำกาดำ. อุบลราชธานี : ศิริธรรม, 2527

________.สารานุกรมอีสาน ไทย อังกฤษ. อุบลราชธานี : ศิริธรรม, 2532.

________. ผาแดงนางไอ่. อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซ็ท, มปป.

พื้นพระแซกคำ. วัดสว่างท่าสี บ้านท่าสี ตำบลท่าสี อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. อักษรธรรม.

ยุวรี  อภิรักษ์ภูสิทธิ์. การศึกษาเชิงวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องขุนบรม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2527.

สำริด  บัวสีสะหวัด. ฮีตคองประเพณีลาว เล่มที่ 1. นครหลวงเวียงจันทน์: สีสะหวาดการพิมพ์, 2544.

หมาหยุย. หอสมุดแห่งชาติ เมืองจันทบุรี นครหลวงเวียงจันทร์. อักษรไทยน้อย. รหัสไมโคร์ฟิล์ม PLMP: 01012917092_00

http://www.bailane.com/blog/ViewBlog.aspx?sid=0&hid=22972 (ออนไลน์ 27 กรกฎาคม 2557)


 

 

 

 


            [1] พิมพ์ครั้งแรกใน บุญชู  ภูศรี. (2558). “ฮี ในภาษาลาวและอีสาน.” สารมิตรภาพไทย-ลาว. ปีที่ 22 ฉบับที่ 1.  

ความคิดเห็น