ยามไทบ้าน ในเอกสารใบลานภาคอีสาน

บุญชู  ภูศรี
ความนำ
                ยาม คือ เวลา ช่วงเวลา เครื่องมือในการบอกเวลาในอดีต ซึ่งมีชื่อยามบอกเวลาที่หลากหลาย และบางคำได้หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากว่าการบอกเวลาในปัจจุบันใช้ตัวเลขในการบอก ยามหรือเครื่องหมายบอกเวลาของคนอีสานจึงค่อย ๆ หายไปหรือใช้เฉพาะคนสูงอายุโดยไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนอีสานรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
                การศึกษาค้นคว้าเรื่องยามพื้นบ้านนี้ ผู้เขียนศึกษาค้นคว้าเฉพาะที่ปรากฏในใบลานในวัดชมพู บ้านหนองหินใหญ่ ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยแรงจูงใจเกิดจากการจัดเก็บและสำรวจใบลานอย่างละเอียด ซึ่งในตอนท้ายของการเขียนใบลาน (อวสานพจน์) พบว่ามีการบอกเวลา (ยาม) ที่เขียนใบลานแล้วเสร็จ บางฉบับบอกผู้เขียน เจ้าภาพในการสร้างถวาย และบางฉบับมีบอกปีที่จาร (เขียน) ด้วย ทำให้ใบลานนั้นทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น

สมุดภาพคัดลายมือด้วยตัวอักษรธรรมอีสานในการเก็บข้อมูลเรื่องยามพื้นบ้านอีสาน : ภาพโดยผู้เขียน
ภาพที่ 1 : บรรทัดที่ 1 - ริจนาแล้วยามถือไถแก่แลเจ้าเอย เดือน 10 ขึ้น 9 ค่ำ พร่ำว่าได้วัน 7 แลเจ้าเอย


ภาพที่ 2 : บรรทัดที่ 1 - ริจนาแล้วยามตะเว็นสอดขื่อแลเจ้าเอย จัวแหวนเขียนแลเจ้าเอย
 
ประเภทของยาม
                ยามที่ปรากฏในเอกสารใบลานวัดชมพูนี้ พบว่ามีการใช้ยาม 2 ระบบปะปนกัน คือ 1) ยามหลวง คือ ยามที่ใช้บอกเวลาในราชสำนัก 2) ยามราษฎร์ หรือยามชาวบ้าน ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
                 1. ยามหลวง
                ยามหลวง หรือยามราชสำนัก คือ การกำหนดเวลาที่ราชสำนักล้านช้างใช้ ซึ่งแบ่งเป็นช่วง ๆ วันหนึ่งแบ่งเป็น 16 ช่วง เรียกว่า ยาม โดยกลางวันมี 8 ยาม กลางคืนมี 8 ยาม ยามหนึ่งเท่ากับ 1 ชั่วโมง 30 นาที ดังนี้

ลำดับ
ชื่อยาม
ช่วงเวลา
1
ยามตุดตั้ง
06.00 น. - 07.30 น.
2
ยามงาย
07.30 น. - 09.30 น.
3
ยามแถใกล้เที่ยง
09.00 น. - 10.30 น.
4
ยามเที่ยง
10.30 น. - 12.00 น.
5
ยามตุดซ้าย
12.00 น. - 13.30 น.
6
ยามแลง (ยามกลองแลง)
13.30 น. - 15.00 น.
7
ยามแถใกล้ค่ำ
15.00 น. - 16.30 น.
8
ยามพาดลั่น (ค่ำ)
16.30 น. - 18.00 น.
ตาราง 1 : ยามกลางวัน
 
ลำดับ
ชื่อยาม
ช่วงเวลา
1
ยามตุดตั้ง
18.00 น. - 19.30 น.
2
ยามเดิก (ดึก)
19.30 น. - 21.00 น.
3
ยามแถใกล้เที่ยง
21.00 น. - 22.30 น.
4
ยามเที่ยง
22.30 น. - 24.00 น.
5
ยามตุดซ้าย
24.00 น. - 01.30 น.
6
ยามเข้า (ยามเค้า)
01.30 น. - 03.00 น.
7
ยามแถใกล้ฮุ่ง (รุ่ง)
03.00 น. - 04.30 น.
8
ยามพาดลั่น (ฮุ่ง)
04.30 น. - 06.00 น.
ตาราง 2 : ยามกลางคืน
ตารางยามจาก : ธวัช  ปุณโณทก, 2530 : 184-185

                2. ยามไทบ้าน
                ยามไทบ้าน หรือยามพื้นบ้าน คือ ยามที่ประชาชนทั่วไปใช้ในการกำหนดเวลา โดยนำเอาวิถีชีวิต กิจวัตร ธรรมชาติ ในท้องถิ่นของตนมาเป็นเครื่องกำหนดเวลา เช่น กิจกรรมทางศาสนา เวลาในการตักน้ำ อาบน้ำ กินข้าว ดวงอาทิตย์ที่สัมพันธ์ส่องแสงมาถึงอาคารบ้านเรือน ต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดชื่อยาม ดังต่อไปนี้ 


ยามเช้า

ยามเพล - ยามเที่ยง

ยามบ่าย

ยามเย็น - ยามกลางคืน

-ยามจังหัน
-ยามตาวัน ๓ โมงเช้า
-ยามฉันจังหันแล้วใหม่ ๆ
-ยามงายแก่
-ยามงายแล้ว
-ยามฉันจังหัน
-ยามแม่ออกมาใส่บาตร
-ยามเช้า
-ยามถือไถแก่
-ยามแม่ออกแปงจังหัน
-ยามเลิกจังหัน

 

-ยามแม่ออกเลิกเพล
-ยามเพล
-ยามแถเที่ยง
-ยามเพลแล้ว
-ยามเณรใกล้สิตีเพล
-ยามแม่ออกเลิกเพล
-ยามกองเพล
-ยามแม่เพลมาโฮมกัน
-ยามตาวันเที่ยง

 

-ยามสีกาลงท่า
-ยามตาวันใกล้สิบ่าย
-ยามตาวันบ่าย
-พอตาวันบ่าย ๓ โมงแลง
-ยามค้ายบ่ายโมง
-ยามคล้ายบ่าย
-ยามตาวันบ่าย ๒ โมง
-ยามสีกาลงท่า
-ยามสาวลงท่า

 

-ยามตาวันพวมพ้นปลายไม้
-ยามตาวันลับป่า
-ยามแลงค้อยสิค่ำ
-ยามมื้อแลงแดดอ่อน ๆ
-ยามตาเว็นสอดขื่อ  
-ยามควายต้อมแหล่ง
-ยามตีกลองงัน
-ยามคนกินข้าวแลง
-ยามหม่าข้าวแลง
-ยามตีกลองแลง
-ยามกลองแลง
-ยามแลงใกล้สิค่ำ
-ยามแลงค้ายค่ำ
 ตาราง 3 : ตารางยามที่ปรากฏในใบลานวัดชมพู บ้านหนองหินใหญ่
 
                 อธิบายศัพท์
           งาย-เช้า/จังหัน-ภัตตาหารเช้า/ตาวัน,ตาเว็น-ตะวัน/แม่ออก-อุบาสิกา/แปงจังหัน-เตรียมภัตตาหารเช้า/เลิกจังหัน-พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ/เลิกเพล-พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลเสร็จ/ใกล้สิตีเพล-ใกล้จะเพล/แม่เพล-อุบาสิกาที่มาถวายภัตตาหารเพล/โฮมกัน-รวมกัน/ใกล้สิบ่าย-ใกล้จะบ่าย/พวม-กำลัง/ข้าวแลง-ข้าวเย็น/ยามถือไถแก่-เวลาเช้าช่วงไถนา
   
อธิบายยามพื้นบ้าน
                1. ยามงายแก่
                สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน กล่าวถึง งาย 3 ประเภท คือ 1) งายธรรมดา คือ เวลาที่ยังไม่สายเท่าที่ควร 2) งายเงิก คือ เวลาสายมาก เปรียบเหมือนกับคนที่ไปทำนาแต่เช้า ก้มหน้าดำนา เมื่อหิวข้าวก็เงย(เงิก)หน้าขึ้นมองหน้ามองหลัง เพื่อมองหาคนที่จะนำข้าวมาส่ง เป็นช่วงเวลาเลย 09.00 น. แล้ว (ปรีชา  พิณทอง, 2532 : 211) และ 3) งายตาเหลือก คือ เวลาที่สายมาก ประเภทหิวข้าวจนตาลาย งายประเภทนี้ทำให้เกิดตำนานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่
                คำว่า งายแก่ คงจะเป็นเวลาสายแก่ประเภทเดียวกันกับงายตาเหลือก เป็นช่วงเวลาใกล้เพล ซึ่งแดดเริ่มจัด ภาษาอีสานเรียกว่า แดดแก่ จึงน่าจะนำคำว่า แก่ จากลักษณะของแดดมาเรียกขยายลักษณะเวลาสายจัดนั่นเอง
                 2. ยามสาวลงท่า 
                ยามนี้เป็นเวลาเย็นที่หญิงสาวเริ่มทยอยที่จะไปหาบน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับเพลงร้องเล่น ว่า อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัด ซึ่งวัดในอีสานโดยส่วนหนึ่งเมื่อตั้งบ้านเรือนใกล้แหล่งน้ำ หรือหากไม่มีแหล่งน้ำก็จะขุดบ่อและสระในวัด การขุดบ่อก็เพื่อใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ที่ขุดบ่อให้วัด เหตุผลง่าย ๆ คือ เป็นสาธารณะ จนมีคำพูดติดปากว่า ขุดน้ำบ่อ ก่อศาลา ยอขาผู้เถ้า
                คำว่า ขุดน้ำบ่อ หมายถึง บ่อน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ชาวอีสานเรียกว่า น้ำส่าง หรือ ส่าง เป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งถิ่นฐาน และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้ ในอีสานสมัยอดีตทุกวัดต้องมีน้ำบ่อ ทั้งบ่อน้ำอุปโภคบริโภค
                นอกจากนี้จะสังเกตว่าในภาคอีสาน เมื่อพูดถึงการทำบุญ มักจะใช้คำว่า สร้างน้ำทำบุญ มากกว่าที่จะนิยมพูดว่า ทำบุญสุนทรทาน 
                 3. ยามตะเว็นสอดขื่อ 
                เป็นคำบอกเวลาที่มีความสัมพันธ์ระว่างแสงอาทิตย์กับที่อยู่อาศัย ทำให้มองเห็นสภาพบ้านเรือนได้เป็นอย่างดี แสงตะวันยามเย็นจะสอดเข้ามาทางสีหน้าของเรือน บางทีเราเรียกว่า ยามผีตากผ้าอ้อม หรือยามลิงตากผ้าอ้อม เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับยามตาวันพวมพ้นปลายไม้ ยามตาวันลับป่า ยามแลงคล้อยสิค่ำ ยามมื้อแลงแดดอ่อน ๆ


ภาพ 3 : ศาลาการเปรียญแบบโปร่ง ตอนเย็นแสงแดดสามารถสอดแสงเข้าถึงขื่อได้
ถ่ายเมื่อ 18/10/2549 ถ่ายภาพโดยผู้เขียน

 
ภาพ 4 : เรือนบ้าน ๆ แสงแดดสามารถสาดส่องเข้าไปสอดขื่อได้
ถ่ายเมื่อ 18/7/2550 ถ่ายภาพโดยผู้เขียน

                4. ยามควายต้อมแหล่ง
                ต้อม หมายถึง ชุม รวม แหล่ง ถ้าเป็นกริยา หมายถึง การเอาเชือกผูกวัวควายไว้ในคอก คำนามหมายถึง ที่อยู่หรือคอกของสัตว์พาหนะ (สิลา  วีระวงส์, 2549 : 310) ควายต้อมแหล่ง จากการสอบนักศึกษาลาวอธิบายว่า ที่อยู่ของควายที่ไม่ใช่คอก แต่เป็นการนำควายไปผูกรวมกัน (จุ้มกันไว้) ยามควายต้อมแหล่ง น่าจะอยู่ในช่วงเวลา 17.00-16.00 น. 
                 5. ยามคล้าย และยามคล้อย     
                ค้าย หมายถึง บ่าย ชาย ส่วนคำว่าค้อย หมายถึง เอน เอียง ทั้งคำว่า ค้อยและค้าย นำมาอธิบายลักษณะของเวลาช่วงคาบเกี่ยวจากช่วงหนึ่งจะเข้าสู่อีกช่วงหนึ่ง คือ ยามค้ายบ่ายโมง และยามคล้ายบ่าย หมายถึง ตะวันเลยเที่ยงจะเข้าสู่ช่วงบ่าย ถ้าจะระบุเวลาตอนบ่ายก็สามารถจะใช้คำว่า ค้ายบ่ายโมง (13.00 น.) ค้ายบ่ายสองโมง (14.00 น.) ค้ายบ่ายสามโมง (15.00 น.) ส่วนยามแลงค้อยสิค่ำ และยามแลงค้ายสิค่ำ หมายถึง ช่วงเย็นใกล้จะมืด เป็นช่วงเวลามองเห็นลายมือพอจะเขียนหนังสือได้ด้วยตาเปล่า ภาษาอีสานอีกคำเรียกช่วงเวลานี้ คือ “พอซุ้มล้าว” หรือ เวลาพลบค่ำ นั่นเอง
                 6. ยามตีกลองงัน
                กองงัน คือ กลองเพลที่ตีในวัน 7-8 ค่ำ และ 14-15 ค่ำของเดือน ในช่วงเวลาหลังจากรับประทานข้าวเย็นเสร็จ (ประมาณเลย 19.00 น.) เพื่อให้อุบาสกอุบาสิกา หนุ่มสาว เด็ก ออกมาทำวัตรสวดมนต์ ฟังคำสอนทางพุทธศาสนา (ปรีชา  พิณทอง, 2532 : 34) การตีกลองงันนี้น่าจะเป็นที่ถูกใจของเด็ก ๆ เพราะมีสำนวน กล่าวว่า ตีกลองงัน หูชันชองลอง” อาการ “หูชันช่องล่อง” ของเด็กเป็นอาการแสดงความดีใจอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งเป็นอาการที่ผู้ใหญ่พูดหยอกล้อด้วยความเอ็นดูต่อเด็ก เพราะอาการหูชันส่วนใหญ่เป็นอาการตื่นตัวของสัตว์ เมื่อได้ยินเสียงตีกองงันดังมาจากวัด เด็กมักจะแสดงอาการดีใจ เหมือนกับอาการของเด็กที่เฝ้ารอดูละครทีวีในปัจจุบัน การตีกองงันของทางวัดจะอยู่ในช่วงรับประทานข้าวเย็นเสร็จ เมื่อหมู่บ้านนั้นจะมีกิจกรรมสาธารณะเกิดขึ้นในอนาคต พระสงฆ์จะตีกลองเพื่อเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านมาทำกิจกรรมเพื่อเตรียมงานที่วัด เป็นเวลาที่หนุ่มสาวและเด็กจะได้มาเล่นและทำกิจกรรมในวัดนั่นเอง
สรุป
                ยามชาวบ้านเป็นยามที่หลากหลายมากกว่ายามราชสำนัก จะเห็นว่าถ้าเป็นพระสงฆ์เขียนยามต่าง ๆ มักจะอิงอยู่กับวัด เช่น ยามจังหัน ยามแม่ออกตอมเพล เป็นต้น ถ้าผู้จารเป็นฆราวาสยามต่าง ๆ มักจะอิงกับวิถีชีวิตฆราวาส เช่น ยามควายตอมแหล่ง ยามหม่าข้าวแลง ยามถือไถแก่ เป็นต้น ยามเหล่านี้จึงเป็นยามที่คนอีสานปรับเข้ากับวิถีชีวิต สภาพสังคมของตนเอง รวมถึงรับวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่มีการบอกยามเป็นตัวเลขด้วย ซึ่งคำบอกเวลาบางคำไม่ใช้แล้วในปัจจุบันและคำบอกเวลานั้นน่าจะมีมากกว่านี้อีกและจะมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ หากมีการศึกษาจากหลาย ๆ แห่งเปรียบเทียบกัน
 
เอกสารประกอบการเขียน
ธวัช  ปุณโณทก. (2530). ศิลาจารึกอีสานสมัยไทยลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่. (2542). กรุงเทพฯ : มูลนิธิธนาคารไทยพาณิชย์.
สิลา  วีระวงส์. (2545). วัจนานุกรมภาษาลาว. ฉบับปรับปรุง 2549. เวียงจันทน์ : จำปาการพิมพ์, 2549.
ปรีชา  พิณทอง. (2532). สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรม.

ความคิดเห็น