พระพุ่ม จิตฺตสุทฺธิ (เภรีรัตน์)


พระพุ่ม  จิตฺตสุทฺธิ (เภรีรัตน์)
บุญชู  ภูศรี
 
          ระหว่างลงพื้นที่ในวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่วัดโนนบอน ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผโล) ได้เข้าอุปสมบท ณ วัดแห่งนี้ คณะสำรวจได้สำรวจเอกสารใบลานของวัด ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ในเบื้องต้นพบเอกสารใบลานในปี พ.ศ. 2471 และเอกสารใบลานที่ใหม่ที่สุด เขียนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2534 ซึ่งครบรอบ 24 ปีในวันที่คณะสำรวจมาถึงวัดพอดี

 
         เอกสารที่สะดุดตา คือ เอกสารใบลานฉบับทองทึบและมีการนำชาดมาทาให้ทึบอีกรอบหนึ่ง จะสังเกตเห็นสีแดงลอกออกมาเห็นสีทองซึ่งเป็นพื้นเดิมปรากฏอยู่ ห่อด้วยผ้าใหม่สีทองห่อไว้อย่างดี คณะสำรวจเปิดออกดูปรากฏว่า พบตัวอักษรที่คุ้นเคยเป็นอย่างมาก และเมื่อค้นไปพบคำว่า พระพุ่ม เภรีรัตน์ เหมือนกับพบคนหน้าคุ้น พยายามคิดต่อไปว่าเคยพบกันที่ไหน หรือ เฮาหากเทียวทางพ้อเห็นกันหลายเทื่อ เจ้าบ่เจ้าจื่อหน้าพระอวนไว้กะเล่าลืม

พระพุ่ม  เภรีรัตน์
          เอกสารใบลานที่พบมีชื่อพระพุ่ม คือ เอกสารเรื่องอสีติมหาสาวก ซึ่งเมื่อดูอักขรวิธีในการเขียนแล้ว น่าจะเป็นเอกสารที่มากับรถไฟ หรือมาทางรถไฟ เมื่อความเจริญมาถึงอุบลราชธานี การศึกษาทางพุทธศาสนาก็มากับทางรถไป ทั้งนี้เพราะเอกสารดังกล่าวมีข้อสังเกต คือ


          การใช้วรรณยุกต์เป็นเรื่องธรรมของการเขียนในช่วงดังกล่าว แต่การเขียนด้วยสำนวนไทย มีการใช้เชิง ร เป็นคำควบกล้ำทั้งกล้ำพยัญชนะต้นและพยัญชนะตัวสะกดเป็นอักขรวิธีของอักษรขอมไทย การใช้ รร (ร หัน) นั้นอักขรวิธีขอมไทยและอักษรไทย และการเขียนแบบเรียงตัวอักษรโดยไม่มีเครื่องหมายแบบท้องถิ่น คือ เครื่องหมายนิคหิน ( -ํ ) ชวนให้ตั้งข้อสังเกตเป็นอย่างมาก
          ผู้เขียนคุ้นเคยกับตัวอักษรเป็นพิเศษเหมือนเคยพบที่ไหนสักแห่ง จนกระทั่งมาสะดุดที่ชื่อผู้จาร (ผู้เขียน) คือ พระพุ่ม  เภรีรัตน์ ซึ่งเคยพบที่วัดป่าน้อยหรือวัดมณีวนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี เมื่อค้นต่อไปจึงพบว่า พระพุ่มใช้ชื่อว่า “ป่าน้อยภิกขุ พุ่ม” จึงมีความมั่นใจมากว่าเป็นคนเดียวกัน

 
          ลักษณะการเขียนหนังสือของพระพุ่ม  ในฉบับนี้เป็นพระที่ทรงภูมิรู้ ทั้งภาษาไทย ภาษาอีสาน และภาษาอังกฤษ ซึ่งพระพุ่มมีการเขียนโดยใช้ตัวย่อด้วย เช่น พระพุ่ม ข, ซึ่งน่าจะหมายถึง พระพุ่มเขียน และ พ,๗๑ คือ พ.ศ.๒๔๗๑ ซึ่งเป็นปีที่คัดลอกอสีติมหาสาวกฉบับนี้

พระพุ่ม จิตฺตสุทฺธิ (เภรีรัตน์)
          เมื่อย้อนกลับมาดูเอกสารที่เขียนโดยพระพุ่ม  วัดป่าน้อย พบว่าพระพุ่ม  มีฉายาว่า จิตฺตสุทฺธิ ได้เขียนวรรณกรรมเรื่องมหาชาติ กัณฑ์ทานขันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เขียนเรื่องอสีติมหาสาวก ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ดูระบบการเขียนอักษรธรรมอีสานของพระพุ่มทั้งด้านรูปลักษณ์อักษรและอักขรวิธีแล้ว มีความชัดเจนว่าเป็นลายมือเดียวกัน ดังนี้

 
         เมื่อเปรียบเทียบเส้นลายมืออักษรไทยของพระพุ่ม จากเอกสารที่พบในวัดโนนบอนและวัดป่าน้อย เส้นอักษรมีความเหมือนกันเป็นอย่างมาก  ดังนี้

 
         พระพุ่ม จิตฺตสุทฺธิ อาจจะเป็นพระเถระที่ทรงภูมิรู้รูปหนึ่งของวัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) อาจจะมีการคัดลอกหนังสือจากส่วนกลาง โดยคัดลอกจากอักษรขอมหรืออักษรไทยมาสู่อักษรธรรม และเผยแพร่เป็นเอกสารในการเขียนการสอนในวัดป่าน้อย เมื่อคัดลอกจำนวนมากอาจจะถวายหรือให้วัดสำนักสงฆ์ที่มีความสำคัญหรือมีความเกี่ยวข้องกับวัดป่าน้อยรอบนอกเมืองอุบลราชธานียืมหรือนำไปศึกษา จึงได้พบชื่อพระพุ่มในวัดรอบนอก อย่างเช่น วัดโนนบอน


กิตติกรรมประกาศ
-กราบรำลึกถึงพระคุณของพระพุ่ม จิตฺตสุทฺธิ ผู้ที่จารเอกสารไว้ให้อนุชนได้ศึกษา
-กราบขอบพระคุณพระครูถิรมงคลญาณ เจ้าอาวาสวัดโนนบอน ที่เมตตาอำนวยความสะดวกในการสืบค้นเอกสารใบลาน  
-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชวินนท์ แสงศรีจันทร์ ผู้นำสำรวจ  
-นายปกรณ์ ปุกหุต พิพิธภัณฑ์วัดป่าน้อย ผู้ติดต่อประสานงานสำรวจ
-และขอบใจน้องเจษฎา ศรีลาสาร (โบโซ่) บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ ลูกในบ้านหว่านในสวนที่ช่วยประสานงานให้ครับ
 

ความคิดเห็น