การปฏิบัติต่อวัวควายในวรรณกรรมอีสาน

บุญชู  ภูศรี

                                         ไถนาแล้ว                  อย่าลืมควายกับแอก    
                             บาดถืก ข้าวบาทพ้อม              ยังสิโอ้อ่าวหา
          ผญา กล่าวว่า ข้าวบาทพ้อม อันหมายถึงข้าวขึ้นราคา พ้อม คือภาชนะสำหรับตวงข้าว รูปร่างเท่ากระบุงกระต่าบ้านเรานี่เอง แนวคิดที่ท่านเตือนคือหลังฤดูทำนาเก็บเกี่ยว จะเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งหญ้าหรืออาหารวัวควายเริ่มลดหายไป นักปราชญ์อีสานจึงผูกผญาว่า ให้ค่อยถนอมเลี้ยงสัตว์เหล่านี้พอให้ม้มแล้ง
                             อันว่า   งัวควายช้าง               ทังหมูหมาเป็ดไก่
                                       ให้พากันเลี้ยงไว้           คุณล้นยิ่งประมาณ
                                      สัตว์ที่เฮาปองเลี้ยง       ให้กูร์ณาแสวงเหยื่อ                    
                                       เลี้ยงงัวความช้างม้า      หวังได้เพิ่งแฮง                                   
ถอดความ : สัตว์เลี้ยงประเภทช้าง วัวควาย หมู หมา เป็ดไก่ ให้เลี้ยงไว้เพราะมีประโยชน์มาก และให้มีความเมตตาหาอาหารให้สัตว์เลี้ยง เพราะจะได้ใช้แรงงานในอนาคต
          ในคำสอนภาคอีสาน มีอย่างหนึ่งซึ่งรู้สึกว่าขัดต่อการรับรู้ของคนอีสาน คือ ท่านกล่าวว่าไม่ให้ค้าขายงัวควาย ในขณะที่อีสานมีนายห้อยงัวควายเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหากจะพูดตามเอกสารที่สืบได้นั้น เรามีการแลกเปลี่ยนซื้อขายภายในเครือญาติ หมู่บ้าน แต่จะไม่เป็นการซื้อขายขนาดใหญ่ อาชีพนายฮ้อยเป็นอาชีพใหม่ที่เพิ่งเกิดเมื่อมีการตั้งบ้านเมืองในภาคอีสานสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลังจากสนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring Treaty) เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทย ข้าวกลายเป็นสินค้า มีการขยายพื้นที่ทำนาและมีความต้องการแรงงานควายจากภาคอีสานมากขึ้น จึงเกิดอาชีพนายฮ้อยขึ้นมากมาย (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด, 2557 : 7) การห้ามค้าขายวัวควายปราชญ์อีสานน่าจะได้รับจากพุทธศาสนาคือ พุทธศาสนากล่าวถึงการประกอบอาชีพ 5 อย่างที่อุบาสกอุบาสิกาไม่ควรกระทำ เรียกว่า มิจฉาวณิชชา หรืออกรณียวณิชชา หมายถึง การค้าขายที่ผิดหรือไม่ชอบธรรม ซึ่งมิจฉาวณิชชานี้จะทำด้วยตนเองหรือชักชวนคนอื่นให้ทำการค้าเพียงข้อใดข้อหนึ่ง  ก็ไม่ควรทำ (องฺ.ปญฺจก.อ.36/377, พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), 2543 : 205) ประกอบด้วย 5 ข้อ คือ
                   1.  สัตถวณิชชา ค้าขายอาวุธ ได้แก่  ให้เขาทำอาวุธแล้วนำอาวุธไปขาย
                   2.  สัตตวณิชชา ค้าขายมนุษย์ ได้แก่  ขายมนุษย์
                   3.  มังสวณิชชา ค้าขายเนื้อสัตว์ ได้แก่   เลี้ยงสุกรและเนื้อ แล้วนำไปขาย
                   4.  มัชชวณิชชา ค้ายขายน้ำเมา ได้แก่  ให้เขาทำของเมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ขายของเมานั้น 
                   5.  วิสวณิชชา   ค้าขายยาพิษ ได้แก่  ให้เขาทำพิษแล้วก็ขายยาพิษนั้น
          เรื่องมิจฉาวณิชชา เป็นที่ยอมรับของประชาชนในภาคอีสาน กล่าวคือ การค้าขายช้างม้าวัวควายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยกล่าวว่าเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
                             อันหนึ่ง อย่าได้ซื้อช้างม้า        ฝูงหมู่งัวควาย
                                        ทั้งหญิงชาย             อย่าให้เอามาแท้
                             ฝูงนี้     ในธรรมห้าม             จักจิบหายทุกสิ่ง  จริงดาย
                                        ให้พากันจำจื่อไว้       เอาไปเว้าคู่ซู่เมือง  นั้นเนอ                            
                                                             (พระพุทธิสารมุนี, 2549 : 222)
ถอดความ : อย่าซื้อช้างม้าวัวควาย รวมถึงมนุษย์ชายหญิง พุทธศาสนาได้ห้ามการซื้อสิ่งเหล่านี้ หากขืนกระทำลงไปจะเกิดความเดือดร้อน ให้พากันจดจำและนำไปถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังทุกเมือง
          ในวรรณกรรมเรื่องธรรมดาสอนโลก กล่าวถึงมิจฉาวณิชชาเพียง 2 ข้อ คือ ค้าขายมนุษย์ และค้าขายสัตว์ (เนื้อสัตว์) ส่วนมิจฉาวณิชชาอีก 3 ข้อไม่ได้กล่าวถึง อาจจะเป็นเพราะการค้าขายอาวุธน่าจะเป็นเรื่องที่ราชสำนักควบคุม การค้าขายยาพิษอาจจะไม่นิยมหรือสินค้าไม่แพร่หลาย ส่วนการค้าขายเหล้าอาจจะไม่มี เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำได้ในครอบครัวหรือเป็นการแลกเปลี่ยนผลิตผลกันมากกว่าค้าขาย เพราะในสังคมอีสานในอดีตเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อ แลกเปลี่ยนผลผลิตกันดังคำกล่าวที่ว่า พริกอยู่บ้านเหนือ เกลืออยู่บ้านใต้ หัวสิงไคอยู่บ้านเพิ่น จึงมีการขอแลกเปลี่ยนกันได้
 
ทัศนะต่อการการฆ่าวัวควายทำบุญ
       เมื่อเราอ่านวรรณกรรมอีสานประเภทขะลำ จะมีข้อห้ามว่าไม่ให้ด่าควาย เตะควาย และวรรณกรรมอีสานอีกเรื่องที่กล่าวห้ามในลักษณะเดียวกัน คือ ธรรมะสร้อยสายคำ ดังนี้
                             อัน ๑   อย่าเอางัวควายฆ่า       ทำบุญมันบาป                                      

                             อย่าสิ   ได้ปากฮ้าย                ความเว้าใส่มัน     
                                                                     (สวิง  บุญเจิม, ม.ป.ป. : 47)                        
ถอดความ : อย่าฆ่าวัวควายเพื่อทำบุญ เพราะเป็นบาป อย่าได้กล่าวไม่ดี พูดเสียดสีวัวควาย
 

ในขณะที่บางเรื่อง อย่างหมาหยุย กับท้าวฮุ่งท้าวเจือง กลับพูดถึงการฆ่าวัวฆ่าควายพลีกรรม และต้มกินอย่างสนุกสนาน อย่างเรื่องหมาหยุยก็พูดถึงแกงควาย ตอนแม่หมาหยุยตาย มีการงันเฮือนดี บ่าวสาวที่มาทำครัวมีการเว้าหยอกใยกัน
                             สาวแม่ฮ้าง                  ยายแจกแกงผัก                      
                             สาวฮามยายแกงควาย    ใส่ภาช์มวลตั้ง
                   เมื่อนั้น  สาวแม่ฮ้าง                  เลยเสียดใส่ใย
                   อันว่า   แกงแม่ฮ้าง                  จางเอียดทังเกลือ                     
                   อันให้   เหมือนแกงควายสาวฮาม ก็บ่เหมือนนาเจ้า
                                                          (หมาหยุย, หน้าที่, ลานที่)  
ถอดความ : หญิงม่ายทำแกงผักมาแจก ส่วนสาวฮามนำแกงควายมา หญิงม่ายจึงพูดเสียดสีว่า แกงผักเราคงจะจืดจาง อร่อยสู้แกงควายสาวฮามไม่ได้

         กระแสการปฏิบัติเกี่ยวกับวัวควาย เข้าใจว่า มี ๒ กระแส ๆ หนึ่ง ก่อนพุทธศาสนาจะเข้าไปมีอิทธิพลอย่างเข้มแข็งต่อประชาชนล้านช้าง ซึ่งปรากฏในเนื้อหาวรรณกรรมมีการฆ่าวัวควาย และมีการฆ่าบวงสรวงพลีกรรมบ่อย ปรากฏในนิทานที่ไม่ค่อยจะเป็นเชิงพุทธเท่าที่ควร เช่น มหากาพย์ท้าวฮุ่งท้าวเจือง และหมาหยุย ซึ่งมีอิทธิพลมหากาพย์ท้าวฮุ่งท้าวเจืองอยู่ตลอดเรื่อง ส่วนกระแสที่สอง เป็นกระแสนที่พุทธศาสนาเริ่มมีความเข้มแข็งแล้ว ในวรรณกรรมจึงมีการห้ามฆ่า เป็นสัตว์มีคุณ และเป็นสัตว์ใหญ่ แต่ในทางพุทธศาสนาการฆ่าวัวควายทำบุญแน่นอนว่าผิดศีลข้อปาณาติบาต ทั้งนี้เพราะว่ามีองค์ประกอบในการฆ่าครบทั้ง ๕ ข้อ คือ
                             ๑. สัตว์มีชีวิต
                             ๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
                             ๓. มีเจตนาที่จะฆ่า
                             ๔. มีความพยายามจะฆ่า
                             ๕. สัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น 

การนำควายมาบูชาผี ในท้าวฮุ่งท้าวเจือง
ภาพจาก ดวงเดือน   บุนยาวง และคณะ (ฮีตคองในท้าวฮุ่งท้าวเจือง) 

          ทีนี้ในภาคอีสาน มีการผูกนิทานขึ้นกล่าวถึงโทษของการฆ่าสัตว์ทำบุญ คือ เรื่อง สุปุณณานาคชาดก กล่าวถึงเศรษฐีชื่อว่า โพธิราชทำบุญกฐิน บริวารของเศรษฐีมีการฆ่าวัวเลี้ยงแขก โดยที่เศรษฐีไม่ได้เป็นผู้สั่ง และคนฆ่าไม่บอกกล่าวเศรษฐี เมื่อวัวนั้นตายได้ไปกินหญ้าบริเวณศาลาพันห้องรอ การอุทิศส่วนกุศลจากเศรษฐีอยู่ 
                             งัวได้    มรมิ่งเมี้ยน                ปรโลกคองทาง                                    
                             บ่ได้     แปลงกองบุญ             ฮอดกระทิงพอน้อย                          
                             มันจิ่ง   ไปคองคอยถ้า            อบายภูมิปรโลก   ภายพุ้น
                             ย่างเล็ม หญ้าอ่อนอ้วน            ตามข้างผ่อทาง                        
                                       ใกล้ศาลาพันห้อง         ยมพิบาลเทียวจวบ   ปางนั้น                         
                                      คอยโพธิสัตว์ท่อนท้าว   แปลงสร้างส่งทาน
                                                                    (พระอริยานุวัตร เขมจารี, 2513 : 2)

ถอดความ : เมื่อวัวตายแล้วก็ไปเฝ้าคอยทางอยู่ปรโลก เหตุเพราะว่าเมื่อทำบุญนั้นเศรษฐีไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้วัว ๆ จึงไปกินหญ้ารออยู่ใกล้กับศาลาพันห้อง
 
          เมื่อเศรษฐีสิ้นชีวิต แม้ว่าจะทำบุญมาตลอดชีวิต แต่ด้วยวิบากกรรม ดึงเศรษฐีให้ลงสู่อบาย เหตุเพราะว่าเมื่อทำบุญกฐินนั้นมีการฆ่าสัตว์ (ด้วยวิบากเบื้องจำลงสู่อบาย เพื่อว่าทำบุญกฐินฆ่างัวส่งเวรเทียวใช้) เมื่อเศรษฐีเดินทางถึงบริเวณหน้าศาลาพันห้อง วัวกระทิงเห็นเศรษฐีจำได้ จึงวิ่งเข้าไปถามว่า
                                       ตั้งแต่ครั้ง                   ปางก่อนเป็นคน
                             ท่านเป็น เศรษฐีหลวง               แต่งทานกฐินสร้าง
                             เฮาเป็น งัวกระทิงในด้าว           เป็งจานนครราช   ปางนั้น
                             ท่านได้  ให้เขาฆ่า                   เนื้อเฮาแท้ทอดทาน
                                                                      (พระอริยานุวัตร เขมจารี, 2513 : 2)
ถอดความ : วัวกล่าวว่าเมื่อชาติที่แล้วท่านเป็นเศรษฐี เราเป็นวัวป่าในเมืองเป็งจาน เมื่อท่านทำบุญกฐิน ท่านได้ให้คนฆ่าเราและนำเนื้อไปทำบุญ

          เมื่อเศรษฐีฟังจบ เศรษฐีจึงกล่าวว่า เราไม่ได้สั่งให้ใครฆ่าวัวทำบุญ แต่เราได้กินเนื้อสัตว์ในงานบุญกฐินอยู่ แต่เราก็ได้อุทิศส่วนกุศลให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่แล้ว วัวกล่าวว่า ถ้าท่านอุทิศส่วนกุศลจริง แล้วทำไมเราถึงได้มาเกิดในอบายภูมิอย่างนี้
          เมื่อถกเถียงกันไปมาไม่ได้คำตอบ เศรษฐีและวัวจึงเข้าสู่ศาลาพันห้องเพื่อให้พญายมราชช่วยตัดสิน โดยเศรษฐีตั้งสัจจาธิษฐาน ว่า
                             ผู้ข้า     ขอตั้งสัจจาธิษฐานน้อม  ยมราชแลหลิง
                                      เป็นสักขีพยาน            ดังประสงค์เดียวนี้
                             ผิผู้ข้า   ได้อุทิสาหยาดน้ำ         ฮำฮาตธรณี                                      
                                      แผ่กองบุญกฐินทาน      ทั่งเถิงในพื้น                                      
                                      สรรพสัตว์ในห้อง         โลกีย์น้อยใหญ่
                             ทังเจ้า   กรรมนายเวรทั่วหน้า     หมายได้ส่วนบุญ
                             อุทิศให้ งัวกระทิงเจ้า              บ่มีเวรหมายส่ง
                             ขอให้   ดวงดอกไม้                ประสงค์ห้อยหว่างเขา
                             ขอให้   คันโธน้ำ                   อุทกังทรงกลิ่น
                                      ไหลออกจากปลายเขา   เที่ยงแท้เห็นแจ้งเทียวพะลัน
                                                                   (พระอริยานุวัตร เขมจารี, 2513 : 3)
ถอดความ : หากว่าข้าพเจ้าได้หยาดน้ำลงบนผืนแผ่นธรณี เพื่ออุทิศส่วนกุศลจากการทำบุญกฐินให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่ เจ้ากรรมนายเวรแล้วไซร้ ขอให้มีดอกไม้คล้องที่เขาของวัวพร้อมทั้งมีน้ำหอมไหลออกจากปลายเขาด้วย

          เมื่อเศรษฐีอธิษฐานจบ ความจริงได้ปรากฏตามคำพูดของเศรษฐี วัวจึงได้บังเกิดบนสวรรค์ ส่วนเศรษฐียังเหลือวิบากกรรมที่ไม่ได้บอกกล่าว หรือกล่าวห้ามไพร่พลของตนฆ่าวัวเพื่อทำบุญ ด้วยวิบากนี้จึงได้เกิดเป็นนาคใต้พื้นบาดาล

สรุป
          วัวควายในภาคอีสานเป็นสัตว์มีคุณ แต่เนื่องจากสังคมมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้แรงงานการเกษตรมาเป็นการใช้แรงงานจากเครื่องจักร วัวควายจึงมีหน้าที่ผลิตอินทรียวัตถุใส่นาอย่างดี แต่มุมมองทางสังคมเปลี่ยนไปจากสัตว์มีบุญคุณ(ในอดีต) เป็นสัตว์เพื่อบริโภคในปัจจุบัน แต่แนวความคิดเรื่องสัตว์มีบุญคุณยังติดตามมา เช่นเดียวกับสัตว์ในไทยหลาย ๆ ประเภท ที่บทบาทหน้าที่เปลี่ยนไปแล้วในปัจจุบัน  แต่มุมมองความเชื่อ ค่านิยมเก่ายังติดอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ดังนั้น การนำเสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติต่อวัวควายที่ปรากฏในวรรณกรรมอีสาน จึงเป็นเพียงการเล่าเรื่อง หรือถ่ายทอดแนวคิดจากวรรณกรรมเท่านั้น

คำศัพท์
กูร์ณา    -กรุณา เมตตา
เพิ่ง       -พึ่ง
จื่อ        -จำ
ซู่          -ทุก
ความเว้า -คำพูด
ปากร้าย  -ด่า, พูดจาไม่ดี
แม่ฮ้าง   -หญิงม่ายที่สามีตาย
สาวฮาม -หญิงสาวอายุระหว่าง ๒๕ - ๓๕ ปี
เอียด     -เค็ม, เกลือ
คอง       -เฝ้ารอคอย
แปลง     -สร้าง, ก่อสร้าง
ผ่อ        -โผล่ดู, คอยทาง
จวบ      -พบ
ฮำฮาต   -ราดพรม
ทั่งเถิง    -ตกถึง

เอกสารอ้างอิง
องฺ.ปญฺจก.36/177/376
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2543.
พระพุทธิสารมุนี (สุนันท์  สุภาจาโร). วรรณกรรมคำสอนอีสาน. ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น, 2549.
สวิง  บุญเจิม. ธรรมะสร้อยสายคำ. อุบลราชธานี : ประชามติออฟเซต, ม.ป.ป.
พระอริยานุวัตร เขมจารี. สุปุณณานาคชาดก. มหาสารคาม : ศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม, 2513.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด. “นายฮ้อย” ตำนานคาวบอยแห่งอีสาน เอกสารประกอบนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี 2557. ร้อยเอ็ด : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด, 2557.
หนังสือหมาหยุย. หอสมุดแห่งชาติ เมืองจันทบุรี กำแพงนครเวียงจันทน์. อักษรไทยน้อย จำนวน 1 ผูก 96 ใบ รหัส PLMP : 01012917092_00

ความคิดเห็น