บุญชู ภูศรี
คำยืมที่ปรากฏในวรรณกรรมของอีสานและลาวนั้น
โดยส่วนมากจะมาจากภาษาบาลีสันสกฤต และเขมร แต่ที่ไม่ค่อยพบบ่อยคือ
คำยืมที่เป็นภาษาตะวันตก แม้ว่าจะมีคำที่บังเอิญคล้ายกันอยู่อย่างที่อาจารย์อุดม
บัวศรี[1]
กล่าวไว้หลายคำ เช่น
โตต่อน ตรงกับคำว่า Totalเอี่ยน ตรงกับคำว่า Eel
ศัพท์ส่วนใหญ่ที่คล้ายกันจะเป็นศัพท์ประเภทคำนาม คำกริยาและกริยาวิเศษณ์ ที่บังเอิญตรงกัน จะเห็นว่าศัพท์เหล่านี้เป็นศัพท์ที่ใช้ในท้องถิ่น ซึ่งอีสานและลาว หรืออาณาจักรล้านช้างแต่ก่อนมีใช้อยู่แล้ว แต่บังเอิญคล้ายกันกับภาษาอังกฤษเท่านั้น ศัพท์ที่ล้านช้างน่าจะได้รับอิทธิพลจากตะวันตกคือศัพท์ที่มาจากวิทยาการสมัยใหม่ที่ล้านช้างไม่มี ดังเช่นคำว่า เล็น ซึ่งปรากฏในวรรณกรรมลายลักษณ์ของอีสานและลาว ดังตัวอย่างในเรื่องเสียวสวาด
“…แต่นั้น นายสะเภาก็บายให้เขาม้วนเชือกสมอแล้วก็ชักยังใบเสากระโดงใส่ลมใบบ่ช้า แต่นั้นนายสะเภาก็บายถือเอากูฎแล้วพายออกเลยไป เขาก็เอายังแก้วหน้าเล็นออกมาเบิ่งแยงเยี่ยมนักขัตฤกษ์ดาวหน่วยนั้นเป็นเขตเมืองเฮา เขาก็ถกสะเภาไปต่อชาวเมืองนั้น หั้นแล…”[2]
เสียวสวาดฉบับประเทศลาว ก็มีคำว่า เล็น ปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน
“…แต่นั้น นายสะเภาก็บายเอายังคุดแก้วแล้วย้ายออกเลยไป เขาก็เอายังแก้วหน้าเล็น ออกมาเยี่ยมแยงนักขัตฤกษ์ อันว่าดาวหน่วยนั้นเป็นเมืองเฮา เขาก็ถกสะเภาต่อดาวเมืองนั้น…”[3]
คำว่า เล็น หรือ หน้าเล็น ท่านมหาสิลา วีระวงส์ อธิบายว่า
เป็นคำที่ไม่เคยปรากฏในวรรณคดีลาวทั้งหลาย ไม่ใช่คำภาษาบาลีสันสกฤต
แต่เป็นภาษาของชาวยุโรป เข้าใจว่าเป็นภาษาฮอลันดาหรือภาษาอังกฤษ[6] ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษในปัจจุบัน
ว่า Lens (เลนส์) ท่านมหาสิลา วีระวงส์
ให้ความเห็นอีกว่า หมายถึง แก้วหน้ากล้องส่อง หรือ หน้ากล้องถอนฮูป ซึ่งหมายถึง กระจกที่ใช้ในกล้องส่องทางไกล
ความหมายโดยรวมก็คือ กล้องส่องทางไกลนั่นเอง แต่ในวรรณกรรมเรียกว่า แก้วหน้าเล็น
หรือในบางฉบับเรียกว่า หน้าแว่นแก้ว ซึ่งเป็นการยืมแปลคำจากต่างประเทศอีกทีหนึ่ง
กวีล้านช้างคงจะเห็นกล้องส่องทางไกลกับพ่อค้าชาวตะวันตกที่เดินเรือเข้ามาค้าขายกับล้านช้าง
หรืออาจจะเคยทดลองใช้ จึงเป็นเหตุให้นำศัพท์นี้มาใช้ในล้านช้าง
กล้องดูดาวสมัยอยุธยา : ภาพวาดสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและบาทหลวงชาวฝรั่งเศสกำลังสังเกตจันทรุปราคา
ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๘ บันทึกไว้โดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส
นอกจากกวีจะใช้คำว่า หน้าเล็น สื่อความหมายโดยตรงแล้ว ในวรรณกรรมบางเรื่องกวียังใช้สื่อความหมายในเชิงอุปมาเปรียบเทียบในทางโหราศาสตร์ การดูฤกษ์ยามว่า แม่นยำเหมือนตาเห็น หรือแม่นเหมือนกับส่องกล้องเห็น และยังบอกอีกว่าเป็นแก้ววิเศษ ชนิดที่เรียกว่า หน้าเล็นเป็นปาฏิหาริย์แห่งยุคสมัยเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามการที่กวีใช้คำว่า “เล็น” ในวรรณกรรม นอกจากเป็นการบอกให้รู้ว่าล้านช้างในสมัยนั้นรู้จักคำว่าเล็นดีแล้ว ก็จะเป็นการบอกอายุของวรรณกรรมเรื่องนั้นหรือฉบับนั้น ๆ ได้ว่า แต่งหรือจารในสมัยที่วิทยาการเหล่านี้เข้ามาในล้านช้างแล้ว เฉพาะเรื่องเสียวสวาด ท่านมหาสิลา วีระวงส์ สันนิษฐานว่า แต่งขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. ๒๑๘๑ - ๒๒๓๘) เพราะในสมัยนี้มียุโรปเดินทางมาเวียงจันท์ถึง ๒ คณะ[8] คือ คณะของนายเกอรริต ฟอน วูสทอฟฟ์ (Gerrit Van Wusthoff) พ่อค้าในบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ได้เดินทางจากเมืองระแวกตามลำน้ำโขงถึงเวียงจันท์ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๔ และคณะของบาทหลวงมารินี โรแมน (Marini Roman) ชาวอิตาลี เดินทางมาเผยแผ่คริสตศาสนายังนครเวียงจันท์ ตั้งแต่ปี ๒๑๘๕ - ๒๑๙๐
แม่น้ำโขง เส้นทางต่างชาติเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับล้านช้าง : ภาพแม่น้ำโขงบริเวณหลวงพระบาง ปี พ.ศ. ๒๔๑๐
ที่มา : Delaporte, Louis and Garnier,Francis, A pictorial Journey on the Old Mekong : Combodia, Laos and Yunnan (Bangkok : White Lotus, ๑๙๙๘), ๑๘๒.
ฉะนั้น การที่ชาวยุโรปเข้ามาล้านช้างถึง ๒ คณะ อาจจะทำให้ล้านช้างรับวิทยาการสมัยใหม่อย่างเช่น กล้องส่องทางไกล เพราะในสมัยใกล้เคียงกันที่อยุธยา บาทหลวงฝรั่งเศสก็นำกล้องดูดาวเข้ามาอยุธยาแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ล้านช้างรับแล้วสืบทอดวัฒนธรรมด้านภาษาจากชาวตะวันตกครั้งแรก จึงน่าจะเป็นคำว่า เลนส์ (Lens) อันหมายถึงกล้องส่องทางไกล ซึ่งเป็นศัพท์ที่มาพร้อมกับวิทยาการสมัยใหม่และเป็นศัพท์ที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไป กระทั่งกวีได้นำมาบันทึกไว้ในวรรณกรรม
[1]อุดม บัวศรี, วัฒนธรรมอีสาน (ขอนแก่น : คลังนานาวิทยา, ๒๕๔๖), ๑๕๓.
[2]ระวีวรรณ อินทร์แหยม, “เสียวสวาด : การศึกษาเชิงวิเคราะห์” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๔), ๘๖.
[3]คณะกรรมการวิทยาศาสตร์สังคม, มหาสิลา วีระวงส์ : ชีวิตและผลงาน (ส.ป.ป.ลาว : โรงพิมพ์แห่งรัฐ, ๑๙๙๐), ๑๒๑.
[4]จันทะหมุด, ลานที่ ๙๕–๙๖.
[5]หอมฮู, ลานที่ ๙๑.
[6]คณะกรรมการวิทยาศาสตร์สังคม, เรื่องเดียวกัน, ๑๒๑.
[7]พระสมณกุลวงศ์, ขุนทึง, ตรวจชำระโดย พิทูร มลิวัลย์ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประยูรวงศ์, ๒๕๑๑), ๑๕๔.
[8]สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ลำดับกษัตริย์ลาว (กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๕), ๑๙๒.
ความคิดเห็น